farrtosquare

ร้อนนี้สู้ด้วย ”สแลน”

สแลนกันแดด (Shading Net) หรือที่เรียกกันว่า ตาข่ายกรองแสง เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ใช้งานได้หลายอย่าง แต่หน้าที่หลักคือ เอาไว้กรองแสง บังแสง พรางแสง ลดความเข้มข้นหรือความแรงของแสงแดดลง ลดความร้อนที่จะส่งผลกระทบนั่นเอง

สแลนถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง เช่น งานเกษตรทั่วไป, ใช้ทำเป็นหลังคาเรือนเพาะชำ, เรือนเพาะเห็ด, เรือนปลูกผักผลไม้, โรงเรือนไม้ดอกต่าง ๆ คลุมแปลงเกษตร, คลุมหรือล้อมรั้วเลี้ยงสัตว์, ฟาร์มกุ้ง, บ่อเลี้ยงปลา, ทำเป็นหลังคากันแดด, ลานจอดรถ, ดาดฟ้า, อาคารก่อสร้าง ป้องกันการร่วงหล่นของสิ่งของตามอาคารก่อสร้าง และใช้คลุมส่วนต่าง ๆ ของบ้านที่ต้องการความร่มรื่นสวยงาม และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง

เลือก สแลนกันแดด อย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ความเหมาะสมในการใช้งานของสแลนกันแดด ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งการใช้งานตามสีของสแลน เช่น สีดำ สีเขียว สีฟ้า ขึ้นอยู่กับความชอบ และพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง แต่รู้หรือไม่ครับว่าการเลือกสีของสแลนนอกเหนือจากด้านความชอบ หรือความรู้สึกของเจ้าของบ้านแล้ว ยังมีเรื่องของแสงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น สแลนกันแดดสีดำจะไม่ตัดทอนค่าความยาวของคลื่นแสง จึงทำให้แสงที่เล็ดลอดผ่าน ตาข่ายกันแดด สีดำจะเป็นแสงสีขาวปกติทั่วไปตามที่เราทุกคนเห็น ซึ่งสแลนสีดำจะสามารถเก็บความร้อนได้ดีกว่าสีอื่น ๆ แต่จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าสีอื่นครับ ส่วนสแลนกันแดดสีเขียว สีฟ้านั้น จะตัดทอนค่าความยาวของคลื่นแสงที่เป็นสีเดียวกับสีของสแลนนั้นออกไปครับ

นอกจากสีของ สแลนกันแดด  ที่ต้องเลือกใช้งานแล้ว ความเหมาะสมในการใช้งานยังขึ้นอยู่กับการเลือกเปอร์เซ็นต์ในการกรองแสงของ ตาข่ายกันแดด ด้วยเช่นกัน โดยปริมาณเปอร์เซ็นต์ของสแลนสามารถแบ่งได้ตั้งแต่ 50% – 80% และปัจจุบันมีให้เลือกถึง 90%

หากบ้านไหนต้องการใช้งานสแลนกันแดดให้ยาวนานยิ่งขึ้น อาจจะต้องเลือกดูที่ลักษณะการทอของสแลนด้วยเช่นกันครับ เพราะยิ่งทอด้วยเข็มเยอะเท่าไหร่ ตัวสแลนก็จะยิ่งมีความเหนียว และทนทานต่อการใช้งานมากขึ้นเท่านั้น

สแลนช่วยป้องกันความเสียหายจากเชื้อโรค วัชพืช แมลงศัตรูพืช

การใช้สแลนหรือตาข่ายกรองแสงสามารถช่วยป้องกันการเกิดการระบาดของโรค หรือ แมลงศัตรูพืชในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก ได้แก่ โรคราน้ำค้างที่เกิดจากเชื้อรา Peronospora Parasitica มีสาเหตุจากความเย็นและความชื้นจากการที่พืชตากน้ำค้างกลางแจ้ง ระบาดได้ทั้งในระดับต้นกล้าและต้นโต โรคนี้จะไม่ทำให้ต้นตายแต่ใบจะเสียหาย ต้นโตช้า ที่สำคัญคือ น้ำหนักจะลดลง ส่งผลให้ขายไม่ได้ราคา ขาดทุน ช่วยป้องกันความเสียหายของพืชที่เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป ช่วยกันแรงลมและพายุ

  การขึงตาข่ายเหนือแปลงเพาะปลูกนอกจากจะช่วยกันฝน ลดปริมาณน้ำฝนที่พืชจะได้รับแล้ว ตาข่ายยังช่วยลดแรงกระแทกของเม็ดฝน และลดแรงปะทะของลมได้ เพราะหากฝนตกหนัก เม็ดหนา พายุเข้า ลมกรรโชกแรง จะทำให้ต้นไม้เสียหายได้ง่าย